ประวัติวัดเวฬุวัน

ประวัติวัดเวฬุวัน

เมื่อท่านพระอาจารย์สาครขอโอกาสกราบลาจากองค์หลวงปู่หลุยแล้ว ท่านได้พิจารณาแสวงหาที่ปฏิบัติธรรม  โดยท่านได้เลือกไปวิเวก ทางจังหวัดกาญจนบุรี เพราะเห็นว่าสถานที่นั้น ยังไม่ค่อยมีพระปฏิบัติมาพักอยู่ ท่านจึงบอกกับลูกศิษย์ให้ขับรถมารับที่วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร  เพื่อเดินทางไปทางจังหวัดกาญจนบุรี  และได้มาส่งท่านถึงเพียงแค่วัดพุทธวิมุติวนาราม อ.ไทรโยค ด้วยถนนเพิ่งสร้างมาสิ้นสุด ณ ตรงนั้น  การเดินทางจึงต้องเดินทางต่อโดยทางเรือจนถึงทองผาภูมิ ท่านจึงให้คณะที่มาส่งกลับไป เหลือแต่ท่านพระอาจารย์สาครเดินทางต่อไปเพียงลำพัง เมื่อถึงทองผาภูมิ เนื่องจากท่านไม่รู้จักใคร ท่านจึงได้สอบถามหาโยมผู้อุปถัมภ์ วัดในละแวกนั้นให้พาท่านไปดูถ้ำต่าง ๆ เพื่อเป็นที่พำนักปฏิบัติในพรรษาที่ใกล้จะมาถึง  พวกโยมได้พาไปดูถ้ำหลายแห่งจนในที่สุดท่านมาพบถ้ำแก่งกระโต่ง อ. ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี  เป็นที่จำพรรษาในคราวนั้นเอง

ถ้ำแก่งกระโต่ง
ถ้ำแก่งกระโต่ง

องค์หลวงปู่ฝั้นพาสร้างวัดใหม่

คืนหนึ่งที่ถ้ำแก่งกระโต่ง ท่านพระอาจารย์สาครเข้าภาวนาตอนหัวค่ำอันเป็นปกติ ปรากฏว่าเมื่อจิตสงบแล้วในค่ำนั้น ท่านได้นิมิตเห็นองค์หลวงปู่ฝั้นพาท่านและพระเณรสร้าง กุฏิพระ ศาลา ถนนหนทางในวัดแห่งหนึ่ง ท่านและพระเณรอื่น ๆ ก็ช่วยกันสร้างอย่างแข็งขัน เฉกเช่นที่ท่านเคยช่วยงานก่อสร้างกับองค์หลวงปู่ฝั้นมาตามปกติ ท่านอยู่สร้างวัดนั้นนานเหมือนเป็นปีจนท่านคุ้นเคยกับสถานที่นั้นเป็นอย่างดี ด้วยต้องเดินไปทั่วเขตวัดเพื่อสำรวจทาง และหาไม้ หาฟืน อยู่ทุกวัน จนท่านจำได้ว่ามีถนน มีกุฏิ ศาลา อยู่อย่างไร มีคลองทางน้ำ มีต้นไม้อะไรอยู่ตรงไหน สิ่งหนึ่งที่ท่านจำได้ชัดคือ บ่อน้ำพุที่มีปลาอาศัย มีต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้วล้มอยู่ ด้านโคนต้นอยู่ที่บ่อพุน้ำ ทางปลายพาดคลองชี้ไปทางทิศตะวันออก
วันหนึ่งหลังจากพักทำงาน ขณะองค์หลวงปู่ฝั้นมาพักฉันน้ำ องค์หลวงปู่ก็พูดขึ้นกับท่านพระอาจารย์สาครว่า “ท่านอยู่ที่นี่นะ” ในนิมิตนั้นท่านพระอาจารย์สาครได้ตอบไปว่า “กระผมไม่เอา กระผมจะกลับสกลนครที่นี่ลำบาก” ด้วยการตอบสวนคำที่ไม่เคยทำต่อองค์หลวงปู่ฝั้นมาก่อน จิตท่านจึงถอนทันที ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลา ตี ๒ ล่วงเข้าวันใหม่

 

เมื่อมีโอกาสท่านพระอาจารย์สาครจึงสอบถามกับญาติโยมที่มีศรัทธามาทำบุญใส่บาตรว่าเคยเห็นสถานที่ที่มีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ จนได้ความแล้วจึงได้ไปดู พบว่าสถานที่นั้นตรงกับในนิมิตทุกประการ ซึ่งขณะที่เดินไปนั้นท่านสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า ประเดี๋ยวตรงทางขึ้นวัดจะมีจอมปลวกและไม้แดงอยู่ ก็พบดังท่านบอก และถัดไปจะมีต้นมะขามป้อม และมีคลองทางน้ำไหลมาจากบ่อพุน้ำด้านบน เดินไปตามคลองจะมีต้นฉะค่าง และเมื่อข้ามคลองไปจะเจอต้นแดงคู่อยู่ ก็เจอตามที่ท่านพูดเหมือนคุ้นเคยมาก่อนและเมื่อสุดคลองก็พบบ่อพุน้ำมีต้นไม้ล้มอยู่ในลักษณะที่ท่านเห็นในนิมิตทุกประการ

บ่อพุน้ำ
บ่อพุน้ำ

ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจพาญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา เริ่มสร้างเสนาสนะตามที่องค์หลวงปู่ฝั้นบอกกับท่านในนิมิต และท่านได้อยู่จำพรรษา ณ สถานที่นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อยมา ต่อมาท่าน ได้สร้างเสนาสนะเพิ่มเติม จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ มีนามว่า วัดเวฬุวัน เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ และท่านพระอาจารย์สาครได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ และได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๑ และได้พระราชทานเป็น พระครูภาวนาสุทธาจาร  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑
นับจากวันที่ได้เริ่มสร้างวัดเวฬุวันเป็นต้นมา สถานที่แห่งนี้ได้สร้างได้อบรมพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และอบรมอุบาสก อุบาสิกา ให้ดำรงอยู่ในเส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
อีกประการหนึ่งอาจเป็นจุดประสงค์ขององค์หลวงปู่ฝั้นที่ต้องการให้วัดเวฬุวันเป็นสถานที่คอยสนับสนุนพระเณรที่มุ่งต่อการประพฤติ ปฏิบัติธรรม เพราะหากพิจารณาสภาพผืนป่าที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติ ในปัจจุบันนี้ก็จะเห็นว่าผืนป่าภาคตะวันตกยังคงความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดและเป็นสถานที่สัปปายะอย่างยิ่ง ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งของวัดเวฬุวันเป็นเหมือนประตูที่เข้าไปสู่ผืนป่าดังกล่าว องค์หลวงปู่ฝั้น จึงได้สั่งให้ท่านพระอาจารย์สาครสร้างวัดขึ้น ณ ที่ตรงนี้ เพื่อความเจริญแก่พระเณร และพระพุทธศาสนาต่อไป
จวบจนปัจจุบันนี้  ต้นแดงตรงทางขึ้นวัดยังคงอยู่ข้างโรงล้างบาตรในปัจจุบัน ส่วนต้นมะข้ามป้อมที่ท่านตั้งใจจะเก็บไว้ ถูกไถไปแล้วเมื่อครั้งสร้างศาลา ส่วนต้นฉะค่าง และต้นแดงคู่ยังคง ที่บ่อพุน้ำท่านได้สร้างขอบรอบบ่อเพื่อให้ปลาได้อาศัย และทุกหน้าน้ำก็จะมีน้ำผุดไหลออกมาจนเต็มและล้น ไหลไปตามทางน้ำเป็นคลองดังที่ท่านเห็นในนิมิตนั้นเสมอทุกปี ส่วนต้นไม้ที่ล้มเป็นหมายนั้นเป็นไม้เนื้ออ่อนก็ได้ผุพังสูญสลายไปตามกาลเวลา

โรงล้างบาตร
โรงล้างบาตร

เมตตาของสององค์หลวงปู่ต่อวัดเวฬุวัน


เมื่อท่านพระอาจารย์สาคร ได้เริ่มสร้างวัดเวฬุวันแล้ว ก็ได้กลับไปกราบเรียนถึงความก้าวหน้า และสภาพอันสัปปายะของวัดแก่องค์หลวงปู่หลุย และองค์หลวงปู่ชอบเสมอ ๆ  องค์หลวงปู่ทั้งสองก็มีเมตตาชมเชยและให้กำลังใจตลอดมา ตามที่ท่านพระอาจารย์สาครกราบเรียนว่า สภาพป่าบริเวณวัดยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก มีเสือ ค่าง และสัตว์ป่าหลายชนิดชุกชุมอยู่ และมักจะมีเทวดามาสวดมนต์ทำวัตรอยู่เสมอๆ องค์หลวงปู่หลุยจึงบอกว่า “สถานที่นี้เป็นมงคล เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำภาวนาดี ให้ท่านสาครอยู่ที่นี่แหละ” และองค์หลวงปู่หลุยยังให้ท่านพระอาจารย์สาครสร้างกุฏิสำหรับองค์ท่านด้วย โดยเมตตาให้ปัจจัยมาสร้าง ๑๐,๐๐๐ บาท โดยให้สร้างกุฏิท่านมีเสา ๒๐ ต้น และครั้งเมื่อท่านพระอาจารย์สาครสร้างศาลา องค์หลวงปู่หลุยยังเมตตาให้ปัจจัยมาร่วมสร้างอีกด้วย นับเป็นมงคลอันประมาณค่ามิได้

กุฏิหลวงปู่ชอบ
กุฏิหลวงปู่ชอบ

อีกทั้งองค์หลวงปู่ชอบซึ่งมีจิตเมตตาเอ็นดูท่านพระอาจารย์สาครอยู่เสมอ แม้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อองค์หลวงปู่อาพาธไม่สามารถเดินได้ เมื่อท่านพระอาจารย์สาครไปกราบเยี่ยมองค์หลวงปู่ ท่านก็จะเอ็นดูให้ท่านพระอาจารย์สาคร อุ้มพาท่านไปโน่นมานี่เสมอ และหากท่านพระอาจารย์สาครขาดการไปเยี่ยมสัก ๒ – ๓ เดือน องค์หลวงปู่มักจะให้พระมาตามท่านพระอาจารย์สาครไปเยี่ยมท่านเสมอ หากลูกศิษย์องค์นี้ขึ้นไปไม่ได้องค์หลวงปู่ชอบก็จะให้คนพาองค์ท่านมาเยี่ยมเอง แม้ท่านพระอาจารย์สาครจะมาอยู่ที่วัดเวฬุวันแล้ว องค์หลวงปู่ชอบก็ได้เมตตามาโปรดให้เป็นสิริมงคลแก่พระเณรและญาติโยม ที่วัดเวฬุวัน ถึง ๒ ครั้งด้วยกัน โดยท่านพระอาจารย์สาครได้สร้างกุฏิถวายเป็นที่พักภาวนาแก่องค์หลวงปู่ทั้งสอง ที่ข้างบ่อพุน้ำ ที่ท่านเคยนิมิตเห็นและถือเป็นนิมิตหมายในการตามหาสถานที่สร้างวัดเวฬุวันแห่งนี้ โดยปัจจุบัน กุฏินี้ก็ยังอยู่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความเมตตาที่ได้รับจากองค์หลวงปู่ทั้งสอง ผู้เป็นดั่งเพชรคู่แฝดประดับยอดมงกุฏแห่งเมืองเลย

หลวงปู่สาครอุ้มหลวงปู่ชอบ
หลวงปู่สาครอุ้มหลวงปู่ชอบ